“ไตรรงค์”ห่วงภาษาวิบัติ ชี้คำว่า “ชิมิ” ปัญหาระดับชาติ


ข่าวจากไทยรัฐ

“ไตรรงค์” จวกวัยรุ่นใช้ “ชิมิ” แทน “ใช่ไหม” หวั่นทำภาษาไทยวิบัติ พร้อมเรียกร้องให้ที่ประชุมบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติเสนอให้พิจารณาชื่อหนัง “หอแต๋วแตก แหวกชิมิ” ใหม่…


เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่อาคารสำนักงานสวนสัตว์ดุสิต นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติครั้งที่ 9/2553 โดยมีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รายงานการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อตกลงความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม และการเจรจาความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ โดยทางการจีนต้องการนำเข้าภาพยนตร์ ละครไทย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ผลิตและคัดเลือกภาพยนตร์ ละครที่จะนำไปเสนอขายในจีน ขณะนี้เดียวกัน จะมีความร่วมมือระหว่างสองประเทศสร้างภาพยนตร์สองสัญชาติ เช่น ภาพยนตร์ที่มีพระเอกเป็นคนไทย นางเอกเป็นคนจีน และนำไปฉายทั้งสองประเทศ

นาย ไตรรงค์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครั้งที่ผ่านมาได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจีนมีข้อระมัดระวังเกี่ยวกับ การเผยแพร่ภาพยนตร์ ละคร ใน 2 ประเด็นคือ ไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพเด็กนักเรียนทำผิดกฎหมาย หรือผิดวัฒนธรรม เช่น กอดจูบ ยืนสูบบุรี่ และไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพเพศที่สาม ตุ๊ด กระเทย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ประชาชนชาวจีน จึงขอให้ที่ประชุมบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติมีการพิจารณาถึงความเหมาะสม และข้อระมัดระวังดังกล่าวสำหรับการเผยแพร่ภาพยนตร์ ละครทั้งในไทยและการนำไปฉายต่างประเทศด้วย นอกจากนี้โดยส่วนตัวมีความเป็นห่วงวัฒนธรรมของไทยที่มีความเสื่อมถอยมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ภาษาผ่านเพลง ละคร ภาพยนตร์ มารยาทของวัยรุ่น โดยใช้คำที่ไม่เหมาะสม บางคำไม่ทราบว่าเป็นภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศ เช่นคำว่า “ชิมิ”

“ผมได้สอบถาม ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ราชบัณฑิต ว่า รู้จักคำว่า ชิมิ หรือไม่ ท่านตอบว่า ไม่รู้จัก ผมเลยบอกไปว่าคำนี้เป็นคำที่ทันสมัยที่วัยรุ่นใช้กัน แปลว่า “ใช่ไหม” เกรงว่าต่อไปภาษาไทยจะเสื่อมและวิบัติ หากไม่มีการช่วยกันรักษา ดังนั้น อยากให้บอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติ ช่วยกันดูแลภาษาในละคร ภาพยนตร์ที่ปรากฎต่อสายตาประชาชน ไม่ให้ภาษาเสื่อมและต้องรู้ว่าอะไรควรใช้หรือไม่ควรใช้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

โปสเตอร์ชื่อเดิม และภาพจากโปสเตอร์ที่ถูกเปลี่ยนใหม่ให้ตัวละครชายใส่กางเกงยีนส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีการยกประเด็นการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมผ่านภาพยนตร์ มาหารือกันอย่างกว้างขวาง โดยมีการยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “หอแต๋วแตก แหกชิมิ” ได้มาของตรวจพิจารณาจากบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา และให้ทางผู้สร้างกลับไปพิจารณาแก้ไขชื่อภาพยนตร์ดังกล่าวจากนั้นผู้สร้าง ได้แก้ไขมาเป็น “หอแต๋วแตก แหวกชิมิ” แต่ทางบอร์ดภาพยนตร์แห่งชาติก็ยังเห็นว่า ไม่เหมาะสมอยู่ดี ทางนายไตรรงค์ จึงของให้ที่ประชุมมีการตรวจสอบชื่อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว และยืนยันว่าไม่ควรใช้คำว่า “ชิมิ” ในภาพยนตร์ ละครไทยเลย เพราะอาจจะทำให้ภาษาไทยวิบัติ

——————

ความเห็น : จากข่าวนี้ดูเหมือนกระทรวงวัฒนธรรมและภาครัฐก็คงไม่เข้าใจกันต่อไปกับความหมายของคำ่ว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปตามสังคม มีรายการโทรทัศน์และบทความมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าภาษาหรือศัพท์วัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องของยุคสมัยที่อาจหายไปตามกาลเวลา หรือคงอยู่ต่อไปหากมันมีอิทธิพลกับผู้คน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาสร้างประเด็นให้เป็นข่าวเหมือนเป็นอีกผลงานหนึ่งที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันของรัฐบาลต่อไป

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ภาคก่อนที่ตั้งชื่อว่า “หอแต๋วแตกแหกกระเจิง” กลับไม่มีปัญหาอะไรกับคำว่า “แหก” จนต้องเปลี่ยนเหมือนอย่างภาคนี้ อาจเป็นไปได้ว่านี่คือการควบคุม และรบกวนหนังที่ถูกมองว่าไม่ใช่วัฒนธรรมอันดีในสายตาและกรอบของผู้พิจารณาก็เป็นได้

หนึ่งการตอบรับ

  1. […] This post was mentioned on Twitter by Panisara Maolanon, Veerayuth K., ลูกอบรสเขียด,WaVE TD, Sirawit P., movieaudiencenetwork and others. movieaudiencenetwork said: (กรณีหอแต๋วแตกแหวกชิมิ) "ไตรรงค์"ห่วงภาษาวิบัติ ชี้คำว่า "ชิมิ" ปัญหาระดับชาติ – http://bit.ly/cpIWub […]

ใส่ความเห็น