ถาม-ตอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ของ สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตอน 2


หลังจากตัดทอนคำถามบางส่วนจากส่วน ถาม-ตอบของ สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ใน ตอนที่ 1 โปรดอ่านต่อตอน 2 เพิ่มเติมจากข้อ 26 – 35 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนดูภาพยนตร์ รวมถึงปัญหาบางส่วนในธุรกิจภาพยนตร์ที่เชื่อว่าหลายคนยังสงสัยต่อได้เลยครับ

ข้อ ๒๖. ถ้าจะยื่นขอตรวจพิจารณาภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ต้องมีเอกสารใดบ้าง  และมีขั้นตอนอย่างไร

-ถ้าผู้ยื่นคำขอเป็น  บุคคลธรรมดา จะต้องมีเอกสารดังนี้  สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน  สำเนาภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่จะให้ตรวจจำนวน  ๒ ชุด   ถ้าเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่จัดทำหรือสร้างในต่างประเทศ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่าย  และผู้ได้รับสิทธิ์ในภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มายื่นขอเป็นผู้เผยแพร่ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังต้องมีหลักฐานการซื้อภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ / หลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย/หลักฐานแสดงการนำเข้าของกรมศุลกากร เช่น  ใบเสร็จศุลกากร และใบขนสินค้า เป็นต้น

กรณีถ้าผู้ยื่นเป็น นิติบุคคล เอกสารใช้เหมือนกับบุคคลธรรมดา  แต่ให้เพิ่มสำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนของนิติบุคคล  และหนังสือรับรองจากนายทะเบียนของนิติบุคคลนั้นๆด้วย

จากนั้นก็นำเอกสาร  และภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ทั้งหมดมายื่นที่สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย   เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องแล้ว ก็จะรับไว้  และส่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตรวจพิจารณา  และเมื่อผ่านแล้ว ก็จะออกหมายเลขรหัสกท.ให้    และผู้ยื่นฯก็สามารถนำไปทำสำเนาได้ตามจำนวนที่ต้องการ  โดยทำสติ๊กเกอร์มาประทับตรา “อนุญาต” บนสลากที่จะติดบนภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นๆต่อไป

อนึ่ง  ในกรณีที่เป็นเกมซึ่งดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต  และนำมาบรรจุในวีซีดี/ดีวีดี/ซีดีรอม หรือวัสดุอื่นใด  จะต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงว่าทางเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้จัด/ผลิตยินยอมให้สำเนา คัดลอกเพื่อไปจำหน่ายหรือเผยแพร่ได้ในรูปแบบต่างๆ หรืออย่างน้อยในรูปแบบที่ขอมาได้  เช่น ยินยอมให้จัดทำเป็นดีวีดี  ผู้ประกอบการก็ต้องทำเป็นดีวีดี  แต่ถ้าให้ทำเป็นหนังสือ แล้วผู้ประกอบการที่มายื่นขอจัดทำเป็นวีซีดีแทน   เช่นนี้ก็ถือว่าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง  เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ดำเนินการให้  เพราะอาจเกิดกรณีฟ้องร้องกันทีหลังได้  

ข้อ ๒๗.ทำไมจึงปล่อยให้ผู้ขายวีซีดี ดีวีดีของปลอมมาทำใบอนุญาตขายได้

-การขายวีซีดี/ดีวีดี    ที่เรียกว่าการประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน    หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์   ซึ่งต้องมาทำใบอนุญาตให้ขายได้ตามมาตรา ๓๘ หรือ ๕๔ นั้น   เมื่อผู้ประกอบการมายื่นแจ้งความจำนงพร้อมเอกสารหลักฐานว่าขอประกอบอาชีพดังกล่าว  เขามิได้แจ้งว่าเขาขายของปลอม หรือของลอกเลียนแบบ  และแม้ทางราชการจะออกไปตรวจร้านของเขาก่อนออกใบอนุญาต  ก็เชื่อว่าจะไม่พบสิ่งที่ผิดกฎหมายในเบื้องต้น  ดังนั้น  เราจึงออกใบอนุญาตให้   แต่เมื่อออกใบอนุญาตไปแล้ว  หากไปตรวจพบภายหลังว่า ผู้ประกอบกิจการนั้น ขายของปลอม หรือของที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา (ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์)  ผู้ประกอบการก็จะมีความผิดในเรื่องฉาย  เช่า  แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา  อันเป็นคนละประเด็นกับการมาขอใบอนุญาต   สรุปคือ  การที่ทางราชการออกใบอนุญาตให้  ก็เพื่อให้ไปขายของได้  แต่มิใช่ออกให้  เพื่อไปขายของผิดกฎหมาย  ซึ่งถ้าผู้ประกอบการจงใจมาขอเพื่อไปทำผิด  ก็ต้องว่ากันเป็นกรณีๆไป ว่าจะต้องรับโทษความผิดอย่างไร และในเรื่องใดบ้าง

ข้อ ๒๘.หากประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดและโทษอย่างไร

-หากประกอบกิจการโรงภาพยนตร์  หรือประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายภาพยนตร์

โดยไม่มีใบอนุญาต  หรือพูดง่ายๆ ว่า  เปิดโรงหนัง หรือขายแผ่นวีซีดี/ดีวีดีภาพยนตร์แล้วไม่มาขออนุญาต  จะมีความผิดตามมาตรา ๗๙ ต้องโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท  และยังปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน    

               

การขายแผ่นวีซีดี ดีวีดีภาพยนตร์ดังกล่าว  รวมไปถึงพวกที่ขายตามแผงลอย  บูทในห้างสรรพสินค้า   วางขายตามทางเดิน    รวมไปถึงตามตลาดนัดต่างๆด้วย

               

-หากเปิดร้านวีดิทัศน์ (ร้านเกม/ร้านคาราโอเกะ) หรือประกอบกิจการเช่า  แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ (ขายแผ่นเกม/แผ่นคาราโอเกะ) โดยไม่ได้รับอนุญาต จะผิดตามมาตรา ๘๒  จะมีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท   และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน

 

ข้อ ๒๙.ถ้ามีใบอนุญาตแล้ว  ไม่ติดไว้ในที่เปิดเผยจะมีความผิดประการใด

-หากมีใบอนุญาตแล้ว  ไม่ว่าประเภทไหน  แต่ไม่ติดในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจน  ขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะสั่งให้แก้ไขปรับปรุงก่อน  โดยกำหนดเวลาให้   หากไม่ทำตาม  นายทะเบียนก็มีอำนาจสั่งปรับทางปกครองได้ในอัตราไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน    และหากฝ่าฝืนโดยจงใจอีก ก็จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี  

เนื่องจากขณะนี้  ร้านส่วนใหญ่จะมีแต่ “ใบรับ” ดังนั้น  อาจนำ “ใบรับ” ใส่กรอบชั่วคราว และติดไว้ให้เห็นชัดภายในร้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจมองเห็นได้   อย่าไปใส่ไว้ในลิ้นชักหรือเก็บไว้ในที่ตรวจสอบได้ยาก   และควรจะเป็นใบจริงให้ตรวจด้วย  มิใช่ใบสำเนา 

 

ข้อ ๓๐.ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล   ผู้ใดจะต้องรับโทษความผิดนั้นๆ

-ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล   ผู้ต้องรับโทษคือ  นิติบุคคลนั้นๆ   รวมไปถึงตัวกรรมการ  ผู้จัดการ  หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นๆด้วย  เรียกว่าโดนทั้งตัวบริษัทและตัวคนผู้รับผิดชอบ   ยกเว้นว่าคนที่รับผิดชอบจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้กระทำผิดด้วย

 

ข้อ ๓๒.กรณีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน  หรือจำหน่ายภาพยนตร์แล้ว  ยังต้องขอใบอนุญาตประเภทฉายเหมือนเดิมอีกหรือไม่

-ตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้   หากผู้ประกอบการเช่า  แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ได้ขอใบอนุญาตเป็นประเภทขายแล้ว  สามารถให้บริการฉายได้โดยอัตโนมัติ  และไม่ต้องมาขอใบอนุญาตฉายอีก  เพราะในพ.ร.บ.มิได้มีบทบัญญัติไว้   ดังนั้น  ร้านค้า หรือสถานที่อื่นใด นอกเหนือไปจากโรงภาพยนตร์ตามคำจำกัดความในมาตรา ๔ ของพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว  หากฉายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ก็ไม่ต้องขอใบอนุญาต  เช่น  ร้านแมงป่อง ขอใบอนุญาตขายแล้ว(ตามมาตรา ๓๘แล้ว) ก็สามารถฉายหนังเพื่อโฆษณาให้คนซื้อหนังเรื่องนั้นๆหรือเรื่องอื่นๆได้ในร้าน  โดยไม่ต้องขอใบฉายอีกใบ  หรือการฉายภาพยนตร์ตามสถานีรถไฟฟ้า บนรถไฟฟ้า  แบบนี้ก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตฉายเช่นกัน 

 

ข้อ ๓๓.จะทราบได้อย่างไร  ว่าวีซีดี/ดีวีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นๆ ผ่านการตรวจพิจารณาแล้ว

-ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ซึ่งบรรจุอยู่ในวีซีดี /ดีวีดี หรือวัสดุอื่นใด   หากผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แล้ว  จะมีสติ๊กเกอร์สี่เหลี่ยม  ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาวติดอยู่บนปกดีวีดี/วีซีดีด้านหลัง ซึ่งบนสติ๊กเกอร์นี้  จะมีคำว่า “อนุญาต” และลายเซ็นเจ้าหน้าที่อยู่ในเครื่องหมายรูปวงรี  พร้อมทั้งหมายเลขรหัสกท.  ชื่อหนัง  และลายเซ็นผู้ที่บริษัทนั้นๆอนุญาตให้อัดสำเนาจำหน่ายได้  ข้อสำคัญ เครื่องหมายวงรีพร้อมลายเซ็นเจ้าหน้าที่บนสติ๊กเกอร์ดังกล่าวนี้   จะเป็นการพิมพ์ด้วยตรายาง   มิใช่การสำเนาหรือซีร็อก   ดังนั้น  หากสติ๊กเกอร์ใดๆที่ติดบนปกเทป  เป็นลักษณะซีร็อกหรือสำเนาด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร  สติ๊กเกอร์นั้นเป็นของปลอม  แม้หมายเลขรหัส  และชื่อหนังจะตรงกับที่ขอมาก็ตาม  นอกจากลักษณะดังกล่าวแล้ว หากวีซีดี /ดีวีดี/ซีดีรอมใดไม่มีสติ๊กเกอร์ติดเลย  ก็แสดงว่า วีซีดี/ดีวีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นๆไม่ผ่านการตรวจพิจารณาเลยเช่นกัน  ดังนั้น  ผู้จะซื้อไปจำหน่าย  จึงควรระมัดระวัง  มิฉะนั้น  ท่านอาจถูกจับกุมฐานจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจตามกฎหมาย และยังเป็นเทปเถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น  โดยท่านไม่รู้ตัว 

อนึ่ง   ต่อไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการ พิมพ์เครื่องหมายอนุญาตที่เป็นวงรีจากโรงพิมพ์เลยก็ได้ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ซึ่งหากมีเปลี่ยนแปลงเมื่อใด  สวช.ก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

ข้อ ๓๔. วีซีดี  ดีวีดี หรือเทปที่ขายตามชายแดนไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น  หนังฝรั่ง  หนังจีน   เพลงคาราโอเกะจีน  ถ้าซื้อมาจำหน่ายจะผิดหรือไม่

-ในกรณีที่ซื้อตามชายแดนไทย  และเทปนั้นๆมีสติ๊กเกอร์ติดตามลักษณะที่ว่าไว้ตามข้างต้น  ก็สามารถขายได้   ถือว่าเป็นการขายวีซีดี/ดีวีดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ต้องดูด้วยว่ามิใช่ทำแผ่นและสติ๊กเกอร์ปลอม) แต่กรณีที่ซื้อหนังหรือเพลงคาราโอเกะต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปหิ้วซื้อมาจากเมืองนอก  ถ้าซื้อไปดูเป็นส่วนตัว  ย่อมทำได้ แต่หากซื้อมาเพื่อขายต่อ หรือทำเป็นธุรกิจโดยเทปนั้นๆยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมายไทย (คือไม่มีสติ๊กเกอร์ติดอยู่เพื่อแสดงว่าผ่านการเซ็นเซอร์แล้ว) ผู้ขายย่อมมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ จะมาอ้างว่า ไม่ทราบ หรืออ้างว่า เป็นการซื้อจากเมืองนอกมาขาย  จึงไม่มีสติ๊กเกอร์   และไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา ไม่ได้  เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า  ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ทุกชนิด ถ้าขาย/ฉายในไทยต้องผ่านการตรวจทั้งสิ้น ยกเว้นจะเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้น (เช่น ทำเพื่อดูเป็นการส่วนตัว เป็นต้น) และการที่นำเทปเหล่านี้มาขายโดยพลการเช่นนี้  เท่ากับของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น  เพราะผู้ผลิตหรือผู้แทนจัดจำหน่าย  เขามิได้ให้สิทธิ์ท่านขายผลงานหรือเทปของเขาในประเทศไทย  ท่านจะมาเอาประโยชน์ด้วยการขาย และไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่มาเผยแพร่ไม่ได้ และหากภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นๆมีผู้แทนจัดจำหน่ายในไทย  บริษัทผู้แทนฯก็สามารถฟ้องร้องท่านได้ว่าขายของละเมิดลิขสิทธิ์ของเขา    เช่นเดียวกับกรณีก๊อปปี้เทปเขามาขาย

 

ข้อ ๓๕.เมื่อใดที่โรงหนังจะต้องติดเรตหนังไว้บริเวณโรงหนัง

-เมื่อกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๗ ได้ประกาศออกใช้  และเมื่อเจ้าของหนังนำหนังมาตรวจพิจารณา  และได้เรตไปแล้ว   จะต้องติดเรตที่ได้นี้ ให้เห็นชัดเจนในบริเวณโรงหนัง  ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปชมจะเห็นได้  ทั้งนี้  เพื่อมิให้ผู้ดูที่มีอายุไม่เหมาะสมเข้าไปชมหนังที่ไม่เหมาะกับอายุตน

16 responses

  1. ถ้าขายที่ตลาดนัดแล้วไม่มีเลขที่ไห้ จะสามารถขอใบอนุญาตได้หรือไม่ เพราะจะไปขายหลายที่แล้วแต่ไม่มีเลขที่ให้ เลยไม่กล้าออกไปขาย พอไปถามเจ้าของตลาดนัดแล้วเค้าบอกให้ไปเคลียร์กับตำรวจอย่างเดียว แล้วอย่างนี้จะขายของถูกกฎหมายได้อย่างไร เหมื่อนส่งเสริมให้ขายของก็อปมากกว่าเพราะมีค่าเท่ากัน ทำไปก็โดนจับเหมือนกัน ถ้าจะให้ไปขายที่ห้างก็มีไม่มีเงินมากพอที่จะไปเปิดเป็นร้านได้ เพราะเป็นแค่คนธรรมดาทั่วไป

  2. เครือข่ายคนดูหนัง

    เรียนคุณ Khem

    กรณีของคุณ Khem คงต้องชี้แจงไปยังกระทรวงวัฒนธรรม โดยโอนต่อไปยังสำนักภาพยนตร์และวิดีทัศน์ต่อครับ ที่เบอร์ โทร. ๐๒ ๔๒๒ ๘๙๗๒ – ๘๘ (น่าเสียดายที่เว็บของสำนักภาพยนตร์ฯ เข้าไมไ่ด้ไม่รู้เกิดจากอะไร) เพื่อสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ ข้อมูลส่วนนี้ผมนำมาให้อ่านก็คัดลอก ตัดทอนจากของกระทรวงวัฒนธรรมอีกทีหนึ่ง บล็อกเราเป็นเพียงบล็อกของคนดูหนังทั่วไปครับ

  3. ขอสอบถาม ครับ คือวัน ก่อนเจ้าหน้าที่มาตรวจที่ร้าน และแจ้งข้อกล่าวหาว่า ให้เช่า … ภาพยนต์ ที่ไมได้รับการตรวจ จากคณะกรรมการ ….เราทราบข้อกล่าวกว่าวหาแล้ว และต้องการทำให้ถูกต้อง โดยละเอียดเป็นดั้งนี้ครับ
    เราให้บริการเฉพาะ ชาวเกาหลี และรายการ ภาพยนต์ ก็ให้เสียงภาษาเกาหลีเท่านั้น ไม่มี ภาษาไทย และ ไม่มีซับไตเติ้ลภาษาได ๆ จำนวนลูกค้า ประมาณ ไม่เกิน 150 คนในปัจจุบันเนืองจาก ลูกค้าบอกว่าของเราราคาแพงกว่าเจ้าอื่น(เจ้าอื่นไม้ได้ซื่อลิขสิทธ์)
    1 เรามี ใบอนุญาติในการขาย ให้เช่า ….และใอนุญาติประกอบการถูกต้องทุกอย่าง
    2 เราซื้อลิขสิทธิ ของรายการทีวี ที่ เกาหลี ช่อง mbc/ sbs/และ kbs เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รับอนุญาตจากทางสถานีหรือเจ้าของ ลิขสิทธิ์ให้ เราขายหรือให้เช่า รายการทีวีของเขาได้
    3 รายการดัง กล่าว เราได้รับ มาโดยการ ดาวน์โหลดทาง อินเตอร์เนท และเป็นรูปแบบ ไฟล์ avi
    4 อุปกร์ที่เราใส่ ภาพยนต์ คือ ฮาร์ดดิส ที่ประกอบรวบกับเครืองอ่าน และส่งภาพไปยัง ทีวี โดย ใช้สาย เอวี
    5 ใน อาร์ดดิสหนึ่งอัน บรรจุราย การ ประเภทนี้
    คือ * รายการข่าว (ทราบว่าไม่ต้องขอให้ตรวจ)
    ซีรี่ หรือละคร (เหมือนละครหลังข่าวของไทย)
    วาไรติ้ ทอกโชว์ ต่าง ๆ
    รายการทั้งหมด นี้ รวมแล้ว 80 รายการ ต่อสัปดาห์ ความยาว รายการละ 60 นาที่โดยประมาณ

    6 เราให้เช่าในราคาสมาชิกรายเดือน ๆ ละ 1000 บาท และในหนึ่งเดือน เราจะเปลื่ยน ให้เป็นประจำทุกสัปดาห์ คือรายการ ทีวี ของสัปดานี้ ก่อนเราจะนำมาเปลี่ยนให้ลุกค้าสมาชิกในสัปดาห์ นี้ และรายการของสัปดาห์นี้ จะเปลียนให้ใน สัปดาห์หน้า เป็นเช่นนี้ ทุกสัปดาห์ เป็นการดูรายการทีวี ต่าง ของ ช่อง ดังกล่าว ย้อนหลัง 1 สัปดาห์

    เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับเรามี รายการภาพยนต์ ที่ต้องส่งให้ตรวจ จำนวน 80 เรื่อง ต่อสัปดาห์ เวลารวม ประมาณ 4800 นาที คิดเป็นค่าตรวจ นาทีละ 50 บาท เบ็จเสร็จแล้วประมาณ 240000 บาท ต่อสัปดาห์ หรือ 9 แสน 6 หมื่นบาท ต่อสัปดาห์ ในขณะที่รายรับ 1 แสน 5 หมื่น บาทยังไม่หัก ค่าเช่าอาคาร เงินเดือนพนักงาน ค่าลิขสิทธ์ รายการทีวี ทั้ง 3 ช่องดังกล่าว
    ข้อสงสัยของผมคือ ผมจะทำอย่างไรจึงจะ ดำเนินงานต่อได้ เพราะจำกัดลูกค้า เฉพาะชาวเกาหลีเท่านั้น ซึงมีไม่มาก และรายการของเราก็เป็นรายการทีวี ทั่วไป มีทางที่เราจะลดค่า ตรวจภาพยนต์ ลงไหมครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ หมดทางแล้ว ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ………………lle

  4. ปัญหาของคุณ lee เป็นปัญหาที่ในนิตยสาร bioscope เคยนำมากล่าวถึงไว้ครับ และปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปัญหาใน พรบ.ภาพยนตร์ดังกล่าวด้วย ซึ่งแม้แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังยอมรับ

    ถ้าในกรณีดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ ไม่ทราบคุณ lee เคยโทร.ไปร้องเรียนกับทางกระทรวงวัฒนธรรมหรือยัง เพราะเคยทราบมาว่าหลายกรณีเขาก็อนุโลมให้ และอาจใช้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ได้ เพราะถือเป็นกรณีที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกฎหมายจริง

    หากทำแล้วไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี ผมจะนำไปหาลืมกับผู้อื่นที่พอจะช่วยได้ต่อไปครับ

  5. ขอบคุณที่ให้คำแนะนำครับ แต่โทรไปแล้ว ไม่มีใครรับสายเลยครับ ถ้ามีใครหรือวิธี ที่ พอจะช่วยได้ แนะนำ ให้หน่อยครับ
    ตอนนี้ ก็กำลังถูกส่งฟ้องศาลครับ

  6. ลองส่งอีเมลไปก็ ตีกลับ …..

  7. อีเมล์อะไรที่ถูกตีกลับครับ

    ตอนนี้ผมกำลังสอบถามทาง ilaw ให้ช่วยอยู่ครับ ว่าพอจะมีวิธีการบ้างไหม ถ้าได้คำตอบผมจะแจ้งให้ทราบนะครับ

    ถ้าเป็นไปได้รบกวนแจ้งปัญหาอีกครั้งผ่านทางอีเมล์นะครับ movieaudiencenetwork@gmail.com

  8. อีเมลที่มีข้อความเช่นเดียวกับที่ผมโพสไว้ให้นี่และครับแต่ส่งไปสอบถามกับ ทาง สำนักงานภาพยนต์และวิดีทัศ media-oncc@hotmail.com

  9. แล้วการโหลดภาพยนต์มีความตามกฎหมายข้อใด

  10. ไม่น่าจะมีอยู่ใน พรบ.ภาพยนตร์ครับ เพราะ พรบ.ดังกล่าวจะเน้นเรื่องการสร้างหนัง การตรวจ จัดประเภท การฉาย และการขาย

    แต่การโหลดหนัง น่าจะอยู่ใน พรบ.ลิขสิทธิ์ครับตามลิงค์ด้านล่าง

    Click to access copyright.pdf

  11. ได้รับหนังสือจากกระทรวงวัฒนธรรมค่ะ
    เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการใช้ดุลพินิจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 59 หรือ มาตรา 60
    ช่วยอธิบายความหมายให้หน่อยค่ะ

  12. ได้รับหนังสือจากกระทรวงวัฒนธรรมค่ะ
    เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการใช้ดุลพินิจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 59 หรือ 60
    ช่วยอธิบาย ขยายความให้หน่อยค่ะ
    ขอบคุณมากค่ะ

  13. หาเช้ากินค่ำ

    ผมกู้เงินมาลงทุน สั่งซื้อ VCD การ์ตูนลิขสิทธิ์แท้จากบริษัทแห่งหนึ่ง มาวิ่งขายตามตลาดนัดคลองถมตอนเย็นๆ แถวๆ จ.นครพนม สกลนคร เป็นแผงเล็กๆ ประมาณ 400 แผ่น ขายแผ่นละ 20 บาท เพิ่งเริ่มขายได้แค่ 2 วัน วันที่ 2 ผมไปขายที่ตลาดนัดคลองถมตอนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต อ.นาแก จ.นครพนม เวลาประมาณ 19.00 น,ตลาดใกล้จะเลิก กำลังจะเก็บของกลับบ้าน มีตำรวจกับพวกที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์มาจะขอจับผม บอกว่าผมขาย วีซีดี โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยความสงสัยผมก็เลยถามกับตำรวจว่าผมขาย VCDลิขสิทธิ์แท้ผิดด้วยหรือ ตำรวจบอกว่าผิด ต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งผมไม่ทราบจริงๆ ว่าขายของแท้ต้องขออนุญาตก่อน ผมก็เลยชี้ไปที่แผงขาย VCD ปลอม ที่ขายในตลาดนัดเดียวกันแล้วถามว่าอีกแผงหนึ่งเค้าขายของปลอมของก็อป ทำไมไม่ไปจับล่ะ ตำรวจอีกคนบอกว่าจะไปดูให้ แต่เท่าที่สังเกตดูตำรวจคนที่บอกว่าจะไปดูเหมือนไปคุยกับเจ้าของแผงเหมือนรู้จักกันมากกว่าที่จะไปตรวจจับ แล้วก็เดินกลับมา ไม่ตรวจไม่จับ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุยไปคุยมาบอกว่าของเค้าจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท เพื่อขายของปลอมได้และไม่ถูกจับ ถ้าผมไม่อยากถูกจับก็ต้องจ่ายเหมือนกัน ผมอ้อนวอนและขอร้องตำรวจว่า ของผมขายของแท้ ขายแผ่นละ 20 บาท ต้นทุนสูง ได้กำไรน้อย กำไรต่อวัน 200-300 บาท เก็บเดือนละ 1,500 เท่ากับแผงขายของปลอม ขายดีกว่า ต้นทุนน้อย กำไรเยอะกว่า ผมขายของปลอมไม่ดีกว่าเหรอ แล้วผมก็ถามตำรวจต่อว่า ถ้าผมมีใบอนุญาตผมยังต้องจ่ายให้พี่อีกหรือเปล่า ตำรวจบอกว่า ถึงจะมีใบอนุญาตถูกต้องก็ต้องจ่าย มันเป็นธรรมเนียม แล้วตำรวจก็ถามต่อว่า จะให้ได้เดือนละเท่าไหร่ ผมบอกว่าผมอ้อนวอนตำรวจว่า ของผมแผงเล็ก กำไรน้อย ผมขอแค่เดือนละไม่เกิน 500 บาท ได้ไหม ตำรวจเริ่มไม่พอใจ แล้วบอกว่า งั้นไปคุยกันที่โรงพัก ผมขอร้องตำรวจว่าผมขอความเห็นใจว่าผมไม่ทราบจริงๆ ว่าขายของแท้ต้องมีใบอนุญาต แล้วผมจะทำใบอนุญาตให้ถูกต้องก่อนเอามาขาย ตำรวจยังย้ำคำเดิมว่าถึงจะมีใบอนุญาตก็ต้องจ่าย แล้วตำรวจก็ขอชื่อ ที่อยู่ กับเบอร์มือถือผม แล้วก็ยิงเบอร์เข้าเครื่องผม แล้วบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าตัดสินใจได้ว่าจะจ่ายก็ให้โทรมาเบอร์นี้ ถ้ายังขายแต่ไม่จ่ายจะจับ แล้วตำรวจก็พากันกลับไป หลังจากนั้นเพื่อนๆ พ่อค้าแม่ค้า ก็เข้ามาถามและบอกผมว่า แผงขาย VCD ปลอม นั่นแหละเป็นคนโทรแจ้ง เพราะไม่อยากให้เราขาย สังเกตได้จากตำรวจเดินเข้ามาในตลาดไม่ตรวจแผงอื่นเลย เดินตรงมาที่แผงของผมโดยตรง เพราะพ่อค้าแม่ค้าบางคนก็ขายพวกเสื้อผ้า กระเป๋า กิ๊ฟช็อป หรืออื่นๆ ก็มีของผิดลิขสิทธิ์เหมือนกัน แสดงว่าตำรวจต้องการที่จะมาเล่นงานผมคนเดียว หลังจากนั้นผมก็ลองหาข้อมูลว่าขาย VCD ลิขสิทธิ์ มีกฎหมายเป็นอย่างไร ขอใบอนุญาตอะไรบ้าง แล้วขั้นตอนการขอต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า มันยุ่งยาก สลับ ซับซ้อนมาก ขอเรียนและถามเป็นข้อๆ ดังนี้ ครับ
    1. ต้องขออนุญาตจดทะเบียนพาณิชย์ ค่าดำเนินการขออนุญาตใบละ 50 บาท แต่ถ้าขายตามตลาดนัดหลายที่ก็ต้องขออนุญาตทุกที่ ซึ่งต้องขออนุญาตที่ท้องที่หรือ อบต ที่ไปขาย เช่น ถ้า 1 อาทิตย์มี 7 วัน ตลาดนัด 7 ที่ ไม่ซ้ำพื้นที่ หรือสถานที่ ก็ต้องขอใบอนุญาต 7 ใบ 7 สถานที ถึงแม้จะอยู่ในเขตหมู่บ้านหรือท้องที่เดียวกันก็ตาม โดยระบุที่วางแผงให้ชัดเจนด้วย สมมุติว่าตั้งอยู่ใต้ต้นมะพร้าวต้นที่ 1 ในวัดบ้านไร่ ก็ต้องระบุตรงนั้นด้วย ถ้าอีกวัน ที่เต็ม ตั้งที่เดิมไม่ได้ ไปตั้งที่ใต้ต้นมะพร้าวต้นที่ 2 ก็ต้องขออีก 1 ใบ ถ้าตำรวจลิขสิทธิ์มาตรวจจับ ดูใบอนุญาตแล้วไม่ตรงที่เดิมที่แจ้งขอไว้ก็ผิด และกว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ได้ก็ต้องใช้อาจจะใช้เวลาหลายวันเหมือนกันต้องเทียวไปเทียวมาสอบถามว่าได้หรือยัง เพราะ ปลัด อบต.แถวต่างจังหวัด ที่เป็นนายทะเบียนมีอำนาจเซ็นออกใบทะเบียนพาณิชย์ให้ ก็ธุระเยอะเหลือเกิน ไม่เคยอยู่ที่ทำงาน ข้ออ้างสารพัด ออกไปตรวจงานบ้าง ลาบ้าง เมียออกลูก น้องไม่สบาย พ่อตาตาย แม่ยายเดส บ้าง อะไรกันนักหนา แล้ว ขั้นตอนการขอของแต่ละ อบต. ก็ไม่เหมือนกัน บางที่ใช้แค่สำเนาบัตรประชาชน กับสำเนาทะเบียนบ้าน ก็ขอได้แล้ว แต่บางที่ ต้องมีใบอนุญาตให้จำหน่ายจากบริษัทลิขสิทธิ์มายื่นพร้อมกันดัวย บอกได้คำเดียวว่าสับสนและไม่เข้าใจครับ กฎหมายตัวเดียวกัน แต่ขั้นตอนของแต่ละ อบต. แต่ละอำเภอ และแต่ละจังหวัด ไม่เหมือนกันเลย
    2. ต้องขอใบอนุญาตจำหน่าย VCD จากสำนักงานวัฒนธรรม (ข้อนี้ไม่ทราบว่าต้องขอที่ไหน ที่ว่าการอำเภอที่เราจะขายหรือวัฒนธรรมจังหวัด) ค่าดำเนินการ พื้นที่ไม่เกิน 9 ตารางเมตร ใบละ 500 บาท ต้องการขายในเขตจังหวัดไหนให้ทำเรื่องขอในเขตจังหวัดนั้นๆ เงื่อนไขเดียวกันกับจดทะเบียนพาณิชย์ คือถ้าขายตามตลาดนัดหลายที่ ก็ต้องขออนุญาตที่ละ 1 ใบ เช่น ถ้า 1 อาทิตย์มี 7 วัน ตลาดนัด 7 ที่ ไม่ซ้ำสถานที่ ก็ต้องขอใบอนุญาต 7 ใบ 7 สถานที ถึงแม้จะอยู่ในเขตหมู่บ้านเดียวกันก็ตาม โดยระบุที่วางแผงให้ชัดเจนด้วย สมมุติว่าตั้งอยู่ใต้ต้นมะพร้าวต้นที่ 1 ในวัดบ้านไร่ ก็ต้องระบุตรงนั้นด้วย ถ้าอีกวัน ที่เต็ม ตั้งที่เดิมไม่ได้ ไปตั้งที่ใต้ต้นมะพร้าวต้นที่ 2 ก็ต้องขออีก 1 ใบ ถ้าตำรวจลิขสิทธิ์มาตรวจจับ ดูใบอนุญาตแล้วไม่ตรงที่เดิมที่แจ้งขอไว้ก็ผิด ขั้นตอนการขอ ก็ต้องถ่ายรูปแผงที่วางสินค้าจริงในสถานที่จริงที่เราจะไปขายไปยื่นพร้อมกันดัวย ก็ในเมื่อยังไม่ได้ขายจะถ่ายรูปไปได้อย่างไรล่ะครับ ถ้าไปตั้งแผงขายแล้วถ่ายรูปประกอบก็ผิดสิครับ และอีกอย่างตลาดนัดมีพ่อค้าแม่ค้าเข้าออกต่อวันไม่ซ้ำกัน ไม่มีที่ตายตัวแน่นอนว่าจะได้ขายตรงไหน แล้วแต่ตรงใหนว่าก็วางแผงขาย ตลาดนัดนะครับไม่ใช่ห้องแถวจะได้อยู่ที่เดิมตลอด
    3. หลังจากที่ยื่นขอใบอนุญาตจำหน่าย VCD สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอ หรือจังหวัดนั้นๆ (ยังสับสนอยู่ว่าถ้าอำเภอนั้นๆ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูและเรื่องขอใบอนุญาตจำหน่าย VCD เราก็ต้องเข้าไปขอที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด) จะมีหนังสือให้เรานำไปพิมพ์ลายนิ้วมือที่จังหวัด แล้วแต่ว่าวัฒนธรรมจังหวัดนั้นๆ จะกำหนดว่าให้ไปดำเนินการที่หน่วยงาไหน เพื่อตรวจสอบ ว่าผู้ขออนุญาตมีประวัตเป็นอย่างไร เคยมีประวัติที่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีหรือไม่ แล้ว ส่งหนังที่เราพิมพ์ลายนิ้วมือแล้วนี้ไปให้สถานีตำรวจแต่ละท้องที่ตรวจสอบ หลังจากตรวจสอบก็จะส่งกลบไปให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด แล้วส่งต่อไปให้สำนักงานวัฒนธรรมที่กรุงเทพฯ ตรวจสอบอีกที หลังจากนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจะมาตรวจสอบร้าน ขนาดของพื้นที่ และสถานที่ที่ขาย อันนี้ไม่แน่ใจว่าจะมาตรวจสอบที่ใหน เพราะสอบถามสำนักงานวัฒนธรรมแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด ได้คำตอบไม่เหมือนกันเลย บางที่บอกว่าอาจจะมาตรวจสอบที่บ้านก็ได้ บางที่บอกว่าต้องไปตรวจสอบที่สถานที่จริงที่เราขาย ก็ในเมื่อผมยังไม่มีใบอนุญาตขาย สำนักงานวัฒนธรรมจะไปตรวจสอบผมที่สถานที่จริงที่เราขายได้อย่างไร ดูมันขัดแย้งกันเกินไปหรือเปล่าครับ และระยะเวลาหลังจากยื่นขอใบอนุญาตก็ใช้เวลานานมาก นานจนลืมครับกว่าจะได้ใบอนุญาตให้ขายได้ คือ ไม่มีกำหนดครับ อย่างน้อย 4-5 เดือน หรือมากกว่านั้น แล้วแต่การทำงานของตำรวจที่ตรวจสอบ และสำนักงานวัฒนธรรม จะปฏิบัติงานได้รวดเร็วหรือช้าขนาดไหน เรื่องนี้ไม่ได้พูดเองครับสอบถามมาแล้ว
    4. หนัง VCD ที่เราซื้อมาจำหน่ายต้องผ่านการการตรวจพิจารณาแล้ว สังเกตดูได้จากปก VCD จะต้องมีสติ๊กเกอร์สี่เหลี่ยมเล็กๆ จะมีตราประทับว่า อนุญาต และลายเซ็นของเจ้าหน้าที่พิจารณา พร้อมกับมีเลขที่กำกับ โดยสติ๊กเกอร์ที่ว่าต้องระวังว่าถ้าเป็นสติ๊กเกอร์ที่ซีร็อกซ์หรือถ่ายเอกสารแปะให้ระวังว่าอาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ อันนี้แหละน่ากลัวสุด เพราะเราไม่รู้หรอกว่ามันผ่านการตรวจพิจารณามาจริงหรือเปล่า ถึงเราจะจดทะเบียนพาณิชย์ถูกต้อง และขอใบอนุญาตถูกต้อง แต่ถ้าตำรวจที่มาตรวจจับลิขสิทธิ์บอกว่าตรงนี้ไม่ถูกต้อง แล้วทำการตรวจจับ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันผ่านการตรวจพิจารณาถูกต้องครบถ้วนแล้วจริงหรือไม่ ถึงแม้บริษัทที่ส่งของมาให้เราจะมีหนังสือรับรองว่าอนุญาตให้เราจำหน่ายได้แล้วก็ตาม เพราะสติ๊กเกอร์ที่แปะมากับปก VCD ว่าผ่านการพิจารณาถูกต้อง มันถูกต้องจริงหรือเปล่า ของจริงเปล่า ถ้าจริงหมดอายุหรือเปล่า ดูไม่ออก ดูไม่เป็น รายละเอียดมันเยอะแยะ ถามใครใครก็ตอบไม่ได้ แม้แต่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่ออกหนังสืออนุญาตจำหน่ายให้เราก็ยังไม่ทราบว่าถูกต้องจริงหรือไม่ เปิดช่องให้ตำรวจหากิน ข่มขู่ รีดไถ ถึงแม้เราจะขออนุญาตถูกต้อง ดำเนินการถูกต้องแล้วก็ตาม
    ทั้งหมดนี้ผมมองว่า มันไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้องกับคนที่คิดจะค้าขายอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจที่เข้ามาตรวจจับ รวมถึงคนที่บอกว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ที่มากับตำรวจ ทำการข่มขู่สารพัดให้เราจ่ายเงินเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งตำรวจก็ไม่เคยแสดงบัตรตอนเข้าจับกุม หรือถึงแสดงบัตรก็ไม่รู้ว่ามีอำนาจหน้าที่ที่จะทำการตรวจจับจริงหรือไม่ คนที่บอกว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ก็ไม่เคยแสดงบัตร และถึงจะแสดงบัตรก็ไม่รู้ว่ามีอำนาจหน้าที่จริงหรือไม่ ผมเคยได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นมาหลายครั้ง ว่าตำรวจรีดไถหรือจับไปที่โรงพักแล้วข่มขู่เรียกเงินหลายหมื่นบาทเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี ไม่มีเงินก็ต้องหาให้ภายใน 5 นาที 10 นาที ไม่มีก็ต้องไปกู้ยืมเงินเขามาอีก เป็นหนี้อีก อับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถึงแม้เราจะปฏิเสธหรือยืนยันว่าเราถูกต้องไม่ยอมจ่ายเงินให้ตำรวจกับพวก ขอสู้คดีในชั้นศาล ก็ต้องประกันตัว จะเอาเงินมาจากไหน แล้วเงินจ้างทนายมาสู้คดีอีกล่ะ และถ้าเราชนะคดี เราจะเอาผิดกับตำรวจและพวกได้อย่างไร เรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเสียเวลา ได้หรือไม่ และโทษของตำรวจที่ผมได้รู้ ได้ยินข่าวมา ก็แค่สอบวินัย แค่ย้าย ให้พักราชการ หรือให้ออกจากราชการ แค่นั้น มันสาสมกับความผิดที่ทำกับประชาชน ตาสีตาสา พ่อค้าแม่ค้า ที่ไม่รู้กฎหมายแล้วหรือ แล้วพ่อค้าหาบแร่แผงลอยอย่างผมจะเอาปัญญาที่ไหนมาต่อสู้กับตำรวจเลวๆ หรืออำนาจมืดพวกนี้ล่ะครับ และที่สำคัญ ผมว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับนี้มีปัญหา และมีปัญหามากๆ ด้วย เพราะไม่มีความชัดเจน ไม่ครอบคลุมอะไรเลย ไม่มีขั้นตอนการขออนุญาตที่ชัดเจน แต่ละท้องที่ แต่ละเขต แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด หรือแม้แต่สำนักงานวัฒนธรรมที่กรุงเทพฯ เอง ก็ยังไม่เหมือนกัน สอบถามแต่ละที่ให้คำตอบไม่เหมือนกัน บางที่เจ้าหน้าที่ยังไม่รู้เลยว่าขั้นตอนหรือกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน แล้วก็ลองอ่านและศึกษากฎหมายข้อนี้ดูดีๆ ครับ มันขัดกันมากๆ ผมว่ามันเหมาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือร้านที่เปิดเป็นสาขามากกว่า แล้วคนรากหญ้า พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กทุนน้อยหาบแร่แผงลอยล่ะ คนที่หาเช้ากินค่ำอย่างผมล่ะ กฎหมายไม่มีส่วนไหนทีระบุ หรืออำนวยความสะดวกและบอกถึงขั้นตอนรายละเอียดให้ผู้ค้าแผงลอยที่วิ่งขายตามตลาดนัดเลย มันกลับสร้างความยากลำบากให้มากกว่า และมากกว่าที่คิดไว้มากด้วย ต้องขออนุญาตแบบเดียวกันกับธุรกิจขนาดใหญ่หรือร้านที่ตั้งอยู่กับที่ ผมขอยกตัวอย่าง เช่น ร้านแมงป่อง เป็นต้น คือ ถ้าไปขายที่ใหนต้องขออนุญาตที่นั่น แบบไม่ซ้ำสถานที่ เช่น ถ้าขาย 7 วัน 7 สถานที่ ก็ต้องขออนุญาต 7 สถานที่ โดยระบุสถานที่ตั้งที่ชัดเจน ทั้งใบทะเบียนพาณิชย์ และ ใบอนุญาตประกอปการ และถ้าไปขายตลาดนัดที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ที่ไม่ได้ขออนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ ก็ต้องขอเพิ่มอีก (ถึงแม้จะขายที่หมู่บ้านเดียวกันแต่คนละสถานที่ ก็ต้องขอเพิ่มอีก) ค่าขอใบอนุญาตและค่าดำเนินการทุกที่รวมๆ น่าจะเกือบหมื่นแล้ว ผมเป็นพ่อค้าหาบเร่แผงลอยตามตลาดนัดนะครับ ไม่ใช่ร้านแมงป่อง มีสาขาตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น เวลาไปขายของแต่ละครั้ง เวลาไปขายตามตลาดนัดของผมต้องเอาของใส่ท้ายมอไซด์วิ่งไปนะครับ ลงทุนทำแผงกับซื้อของมาขายก็เป็นหมื่นแล้ว เงินที่ลงทุนไปแล้วก็เป็นเงินที่กู้มา เพราะว่าอยากจะค้าขายทำมาหากินสุจริต มีกำไรมาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว และอยากทำให้มันถูกต้องด้วย เงินลงทุนไปแล้วกลับต้องมาเสียเปล่าทำอะไรไม่ได้ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ตัวเดียว ขนาดขายของลิขสิทธิ์แท้ สนับสนุนของแท้ ยังยุ่งยากสลับซับซ้อนขนาดนี้ และถึงผมจะขออนุญาตทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีความมั่นใจอีกว่า มันถูกต้องครบถ้วนจริงหรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่า VCD การ์ตูนลิขสิทธิ์แท้ที่เอามาขาย มันผ่านการตรวจพิจารณาถูกต้อง เพราะสติ๊กเกอร์ที่แปะมากับปก VCD ว่าผ่านการพิจารณาถูกต้อง มันถูกต้องจริงหรือเปล่า ของจริงเปล่า ถ้าจริงหมดอายุหรือเปล่า ดูไม่ออก ดูไม่เป็น รายละเอียดมันเยอะแยะ ถามใครใครก็ตอบไม่ได้ แล้วถ้าโดนจับ ขึ้นศาล โดนปรับหลายแสน คุ้มหรือครับที่จะขายของแท้ สุดท้ายยังไงก็ต้องจ่ายให้ตำรวจอีก กันพลาด และที่มันก็ยุ่งยากสลับซับซ้อนนี่แหละเปิดช่องอย่างมากให้พวกตำรวจเลวๆ กับพวกตัวแทนลิขสิทธิ์เลวๆ ทำมาหากินกันแบบเป็นล่ำเป็นสัน เท่าที่ผมได้ยินมาตำรวจกับพวกตัวแทนลิขสิทธิ์บางคน หากินแบบนี้จนรวย ซื้อบ้าน ออกรถป้ายแดงเงินสดกันเป็นว่าเล่น บางคนมีเงินเก็บเป็นหลายสิบล้าน เป็นร้อยล้านก็มี ทำไมกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับร้านค้าขนาดเล็กหรือหาบแร่แผงลอยบ้าง และที่สำคัญไม่เคยมีหน่วยงานใหนให้ความรู้เรื่องกฎหมายตัวนี้เลย แล้วพอถูกจับขึ้นศาล ยังจะมาบอกว่า เป็นคนไทยจะบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ก็มันไม่รู้จริงๆ นี่ครับ และแทนที่กฎหมายลิขสิทธิ์จะทำให้คนที่คิดจะทำอะไรให้ถูกต้อง ขายของแท้ซื้อของแท้สนับสนุนของแท้ กลับสร้างความยุ่งยากลำบากให้มากกว่าเดิม แล้วแบบนี้ใครอยากจะขายของแท้ ใช้ของแท้ สนับสนุนของแท้ อย่างที่รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ อยากให้เป็นอยากให้ทำกันล่ะครับ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็อย่าหวังเลยครับว่าพ่อค้าแม่ค้าหรือแม้แต่คนซื้อเองจะให้ความร่วมมือ เพราะกฎหมายและขั้นตอนมันยุ่งยากเปิดช่องและบีบบังคับให้มีคนขายของปลอมเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ผมอยากให้รัฐบาล คนที่ออกกฎหมายหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ลองพิจารณาดู ทำไมกฎหมายไม่เน้น หรือพุ่งประเด็นไปที่คนที่ก็อปปี้แผ่น CD , VCD , MP3 หรือคนที่ขายของปลอม ล่ะครับ อันนี้สิผิดเต็มๆ ตอนนี้โจรมีเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ยาบ้าระบาดเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ตำรวจไม่เน้น แต่เน้นหากินแบบนี้ หากินกับคนยากคนจน หากินกับพ่อค้าแม่ค้า หากินกับคนที่ทำมาหากินสุจริตหาเช้ากินค่ำ เพราะได้เงินเยอะกว่า หากินง่ายกว่า ไม่ต่างอะไรกับโจรตบทรัพย์ในคราบตำรวจ ซึ่งตอนนี้มีเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดเหมือนกัน มีเยอะกว่าโจรเสียอีก โจรจริงๆ เรายังระวังตัวได้ ต่อสู้กับมันได้ แต่โจรในคราบตำรวจใช้ช่องว่างของกฎหมายมาปล้น มาหากินกับประชาชน บอกตรงๆ ว่าสู้ลำบาก ถ้ากฎหมายยังเป็นแบบนี้ ผมว่ากฎหมายฉบับนี้ เปิดช่องให้ตำรวจกับตัวแทนลิขสิทธิ์ ไว้หากิน ขูดรีดกันอย่างสบาย โดยที่ไม่เห็นว่าจะมีใครลงมาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง พ่อค้าแม่ค้าสุจริตเดือดร้อนจะอดตายกันอยู่แล้ว และต้องยอมรับสภาพแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนครับ ประเทศนี้เมืองนี้ อยู่ยากขึ้นทุกวัน ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ ก็ทำมาหากินลำบาก ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกวันนี้คนเลือกที่จะไม่ทำอะไรให้มันถูกต้อง เลือกที่จะทำผิดกฎหมายมากกว่า เพราะทำผิดกฎหมายบางอย่าง โทษยังน้อยกว่าคนที่คิดจะทำอะไรถูกต้องเสียอีก ถ้าเป็นแบบนี้ ขายของปลอม ยอมจ่ายเงินให้ตำรวจดีกว่าไหมครับจะได้จบและสมใจ หรือว่าเจ้าหน้าที่คนใหนหรือใคร มีส่วนได้ประโยชน์กับกฎหมายตัวนี้ครับ ถึงนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไรเสียที และเรื่องนี้ผมก็ไม่หวังหรอกครับว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับการแก้ไข เพราะนักการเมืองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมัวแต่สนใจและออกกฎหมายให้คนรวย ออกกฎหมายให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ผมมันเป็นแค่มดตัวนึง เป็นแค่พ่อค้าตัวเล็กๆ คนนึง มีเงินลงทุนไม่กี่พันบาท ไม่มีความสำคัญเท่ากับนักการเมือง นักธุรกิจร้อยล้านพันล้านหรอกครับ

  14. ขอนุญาตถามค่ะเรื่องตราปั้มอุญาตพรบ.บนแผ่นวีซีดี
    คือทางบ.จำหน่ายบอกว่าถ้าแผ่นซีดีกับMP3ไม่ต้องมีตราปั้มอนุญาตแต่ถ้าแผ่นที่มีภาพจะต้องมีถูกต้องมั้ยคะ

  15. ผมเป็นพนักงานบริษัท…(มหาชน) แห่งหนึ่ง ซึ่งตำแหน่งผม ต้องขอใบอนญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนต์ ให้กับร้านค้า ซึ่งในระเบียบของวัฒนธรรม ต้องไปตรวจสอบประวัติ(และต้องไม่มีความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ+และไม่เคยประพฤติเสื่อมเสีย ผิดศีลธรรมอันดี)
    แต่ว่าผมเคยมีประวัติเรื่องยาเสพติด ซึ่งคดีได้สิ้นสุดแล้ว และได้รับการเข้าข่าย พรบ.ล้างมลทิน คดีที่เกิดก่อน 5 ธ.ค 2550 ให้ถือว่าเข้าข่ายล้างมลทิน แล้วผมยื่นขออนุญาตในนามนิติบุคคล ซึ่งบริษัท ที่ผมทำงานอยู่ไม่ได้ตรวจสอบประวัติแต่ประการใด.. และเอกสารประกอบการยื่น สิ่งที่ผมเพิ่มเติมไป มีดังนี้
    1.สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รอลงอาญา 2 ปี(ขอคัดสำเนามาจากศาล)
    2.หนังสือรับรองจาก สภอ.เมือง ที่ผมถูกจับกุม
    ออกหนังสือว่า คดีของผมได้สิ้นสุดลงแล้ว และมี ผู้กำกับ เซนต์รับรอง
    3.สำเนา พรบ.ล้างมลทิน ปี 2550

    – แบบนี้ผมพอมีโอกาสที่จะได้รับใบอนุญาตรึป่าวครับ..ผมอยากขอความเห็นใจเเละขอโอกาส เพราะถ้าผมไม่ได้ใบอนุญาตมา ผมก็อาจมีสิทธิ์ โดนให้ออกจากบริษัทได้ เพราะผมทำงานการขอใบอนุญาตให้กับร้านสาขาไม่ครบถ้วน 100% (ถ้าสังคมไทย ยังติดกับเรื่องเดิมๆอยู่แบบนี้ แล้วคนที่เค้ากลับตัวกลับใจ เช่นผม จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างไรครับ งานที่ผมทำอยู่ ค่อนข้างมั่นคง และไม่ได้เข้ามากันง่ายๆ ผมไม่อยากเสียโอกาสชีวิตการทำงาน..เพราะใบอนุญาตใบนี้ใบเดียวหรอกนะครับ)

  16. เว็ปดูหนังออนไลน์ ที่มีอยู่หลายเว็ป มีการนำออกฉาย ภาพยนต์ไทย และต่างประเทศ
    จะเข้าความผิดตาม พรบ.ภาพยนต์และวีดีทัศน์ ไหมคับ

ใส่ความเห็น