เกี่ยวกับเรา


จุดเริ่มต้นของ เครือข่ายคนดูหนัง มาจากกระทู้ในเวบบอร์ดของนิตยสาร Bioscope ดังนี้

สืบเนื่องจากการเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับ “กฎหมายลูก” ที่จะออกประกอบกับพรบ.ภาพยนตร์ฉบับล่าสุด ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงวัฒนธรรม(ซึ่งจะรับผิดชอบด้านการเซ็นเซอร์ และการจัดเรต)

ตัวแทนเครือข่ายพ่อแม่ ตลอดจนตัวแทนของคนทำหนัง โดยเฉพาะคนทำหนังอิสระ ทาง BIOSCOPE ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยพบว่า ทัศนคติหลักที่จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมาย อันจะมีผลโดยตรงต่อภาพยนตร์ในบ้านเราต่อไปนั้น ยังคงยืนอยู่บนจุดของการ “ป้องปราม” เพื่อ “ความปลอดภัยของเยาวชนและประเทศชาติ” ไม่ต่างจากที่แล้วมา

แม้ฝ่ายคนทำหนังจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแทนทั้งแก่คนทำหนังและผู้ชมอย่างไรก็ยังคงถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อตัวเอง (“คนทำหนังก็คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของคนทำหนัง ไม่คำนึงถึงสังคม” – – นี่คือปฏิกิริยาที่ได้รับเสมอ) ดังเดิม

คำถามที่เกิดขึ้นจึงคือ แล้วใครเล่าในการประชุมนี้ (หรือไม่ว่าจะองค์ประชุมใดๆ ที่เกี่ยวกับการกำหนดกฎหมายด้านภาพยนตร์) ที่จะสามารถอ้างตัวว่า “เป็นตัวแทนของประชาชนที่เป็นคนดูหนัง” ได้อย่างแท้จริง?

ในเมื่อที่ผ่านมา “คนดูหนัง” ไม่เคยมีโอกาสได้เลือกตัวแทนของตัวเอง และไม่เคยมีโอกาสแสดงความเห็นเลย
โดยเฉพาะความเห็นด้านที่แตกต่างจากผู้ที่อ้างตนเป็น “ตัวแทนประชาชน” เสมอ ไม่ว่าจะภาครัฐ หรือเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง

ดังนั้น เราจึงเกิดความคิดว่า ถึงเวลาแล้วใช่ไหมที่คนดูหนังจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้าง เพื่อแสดงความคิดเห็นของเราอย่างเป็นอิสระ
และเสนอทัศนคติที่หลากหลายขึ้น ให้ผู้มีอำนาจนำไปพิจารณา

เราจึงใคร่ขอเชิญชวน “คนดูหนัง” ทุกท่าน ร่วมกันตั้งกลุ่มขึ้น โดยเริ่มจากการเป็นกลุ่มย่อยตามจังหวัด หรือภูมิภาค ใครก็ได้เริ่มประกาศตัวเป็นศูนย์กลางของเขตแดนนั้นๆ หากมีจังหวัดละกลุ่มได้น่าจะยิ่งดีแล้วลงชื่อร่วมกันอีกครั้งหลังจากนั้น จัดตั้งเป็น “เครือข่ายคนดูหนัง”โดยมีเป้าหมายที่การเสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงสิทธิเสียงภาคประชาชนอีกภาคหนึ่ง ในทุกการประชุมเช่นที่เกิดขึ้นในวันนี้

นี่มิได้หมายความว่า เครือข่ายคนดูหนัง จะต้องมุ่งมั่นต่อต้านรัฐอย่างไม่ลืมหูลืมตา และก็มิได้หมายความว่า ความคิดเห็นของสมาชิกจะต้องพุ่งไปในทางเดียวกันเท่านั้น

เราย่อมคิดเห็นต่างกันได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

แต่การรวมตัวเป็นเครือข่าย ก็เพื่อให้สิทธิเสียงของเราเป็นที่รับฟังจากสังคมบ้าง โดยไม่ต้องมีคนกลุ่มอื่น ซึ่งมีวาระแฝงเร้นอื่น มาอ้างสิทธิแทนเราเสมอไปดังที่เป็นมาตลอด

ซึ่งผลจากการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 เมษายน บล็อกเครือข่ายคนดูหนังจึงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงของ เครือข่ายคนดูหนัง กลุ่มเครือข่ายอิสระที่เป็นเสมือนตัวแทนของคนดูหนังในประเทศไทย

ใส่ความเห็น