ทรัพย์สินจุฬาฯ ทยอยไล่ปรับโฉมที่ดินโรงหนังลิโด้ เตรียมควักกว่า 1,800 ล้าน ผุดช้อปปิ้งมอลล์ใหม่ ปี 57


และแล้วสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง หากเป็นไปตามข่าวนี้โรงหนังเครือเอเพ็กซ์ ลิโด้ จะหมดสัญญาเช่าใน ธันวาคม ปี พ.ศ.2556 และ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีแผนจะปรับปรุงสถานที่เป็นช้อปปิ้งมอลล์ (อ่านรายละเอียดได้ด้านล่าง) โดยมีแผนสร้างแล้วเสร็จปี 2557 นอกเหนือจากนี้ในข่าวอื่นยังเพิ่มอีกด้วยว่าโรงหนังสกาล่าจะหมดสัญญาปี 2559 ซึ่งก็มีแนวโน้มจะถูกพัฒนาตามโครงการเช่นนี้เหมือนกัน

นั่นหมายความว่าเราจะไม่มีโรงหนังแบบโรงเดี่ยว(Stand Alone) ไปอีก 1 แห่ง (และอีกไม่ช้าจะตามไปอีก 1 แห่ง) ซึ่งยังเป็นโรงหนังสำคัญอีกด้วยเนื่องจากมีอายุยาวนาน มีผู้คนผูกพันจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโรงลิโด้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังทางเืลือกสำหรับใครหลายคน เพราะแม้จะฉายหนังตลาดอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีหนังทางเลือกเข้าฉายตลอดเช่นกันในราคาเพียง 100 บาท แม้โรงภาพยนตร์เครืออื่นจะปรับตัวขึ้นราคาไปมากแล้วก็ตาม

ผมขอนับรายชื่อห้างในบริเวณใกล้เคียงกับโรงหนังลิโด้คร่าวๆ ได้แก่ MBK Center, สยามพารากอน, ดิจิตัล เกตเวย์, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่, เซ็นทรัลเวิลด์ และบิ๊กซี ราชดำริ ส่วนละแวกใกล้กันนั้นยังมี จามจุรี สแควร์, พัลลาเดียม, แกรนด์ไดมอนด์, แพลตทินั่ม, ชิบูย่า 19, กรุงทองพลาซ่า 1 และ 2, พันธ์ทิพย์ พลาซ่า และ โลตัส พระราม 1

น่าสงสัยเหมือนกันว่าเรายังมีห้างสรรพสินค้าไม่พออีกหรือ ?

ข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
13 มีนาคม 2555

ทรัพย์สินจุฬาฯ ทยอยไล่ปรับโฉมที่ดินโรงหนังลิโด้ เตรียมควักกว่า 1,800 ล้าน  ผุดช้อปปิ้งมอลล์ใหม่ ปี 57

นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี กำกับดูแล สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เตรียมแผนที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณเฟส 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ลิโด้ เนื้อที่ 7-8 ไร่ เป็นช็อปปิ้งมอลล์แห่งใหม่  หลังจากสัญญาการเช่าพื้นที่หมดลงในปี 2556 โดยจะเริ่มพัฒนาได้ในต้นปี 2557   ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการสยามสแควร์วัน หรือ SQ1 บนเนื้อที่ 8 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ของโรงภาพยนตร์สยามเดิม ที่ใช้เงินลงทุน 1,800 ล้านบาท จะก่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนธ.ค. ปี 2556

“บริเวณ ถ.พระราม 1 ที่บริเวณสยามสแควร์นั้นถือว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นช็อปปิ้งเซ็นเตอร์  หลังจากที่โรงหนังสยาม ถูกไฟไหม้ไป เมื่อคราวเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จึงทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นถูกนำมาพัฒนาก่อสร้างได้ก่อน และจะทยอยปรับโฉมเป็นช็อปปิ้ง มอลล์ใหม่ ในเฟส 2 บริเวณโรงหนังลิโด้  รวมไปถึงที่ดินบริเวณโรงหนังสกาล่า ซึ่งทั้ง  3 แห่งเป็นโรงหนังในเครือเอเพ็กซ์ที่มีกลุ่มสวนนงนุชเป็นผู้เช่า และทยอยหมดสัญญาเช่า”

สำหรับโครงการสยามสแควร์วันนั้น  มีเนื้อที่ 7.4 หมื่นตร.ม  เป็นอาคารสูง 9 ชั้น มีชั้นใต้ดิน  2  ชั้น จะเป็นศูนย์การค้าที่เน้นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ จากกลุ่มยังดีไซน์เนอร์คนไทย และอินเตอร์แบรนด์ และกลุ่มสินค้าไอที  รวมไปถึงร้านค้าแฟลกชิพ สโตร์  บริเวณชั้น 7 ของโครงการ จะก่อสร้างเป็นเพลย์เฮ้าส์  หรือโรงละคร  ขนาด 850 ที่นั่ง โดยอยู่ระหว่างประมูลหาผู้ดำเนินการ   ซึ่ง มี 2 บริษัท สนใจเข้ามาประมูลคือ บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และบริษัท ทีวี ธันเดอร์   ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้ว่ารายใดชนะการประมูล

ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นกลุ่มระดับ เอ ถึงบี ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยว   คาดว่าหลังจากเปิดใหม่บริการในช่วงแรก จะมีลูกค้ามาเดินไม่ต่ำกว่าวันละ 5 หมื่นคน และมีการจัดจ่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อครั้ง

นพ.เพิ่มยศ  กล่าวถึงโครงการประเภทมิกซ์ยูส บริเวณสี่แยกเจริญผล ที่เปิดประมูลโดยมีผู้ที่ผ่านร่างทีโออาร์ ได้แก่ กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และกลุ่มทีซีซีแลนด์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนร่วมทุนเนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท  ซึ่งแนวโน้มที่กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะชนะการประมูลมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากเสนอผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มทีซีซีแลนด์  อย่างไรก็ตามทางสำนักทรัพย์สินจุฬาฯอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองขอเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่เสนอเข้ามา

7 responses

  1. ข่าวอื่นๆ

    เผยอีก 10 ปี ภาพลักษณ์สยามสแควร์จะกลายเป็นวอล์กกิ้งสตรีทแนวสูง

    นางสาวสุดารัตน์ ภูวสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด สำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แนวทางการบริหารที่ดินของทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในย่านสยามสแควร์ ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 60 ไร่นั้น ทางทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนที่จะทยอยนำพื้นที่ดังกล่าวมาบริหารเองภายหลังจากผู้เช่าหมดสัญญา

    โดยในส่วนของการบริหารงานจะแบ่งออกเป็นเฟส ซึ่งเฟสแรกจะเป็นการนำพื้นที่จำนวน 8 ไร่ของสยามสแควร์ซอย 4-5 มาพัฒนาโครงการสยามสแควร์วัน ส่วนเฟส 2 จะเป็นการพัฒนาโครงการค้าปลีกบนพื้นที่ 7-8 ไร่ของบริเวณโรงหนังลิโด้ ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าในปี 2556 ขณะที่เฟส 3 จะเป็นการพัฒนาโครงการค้าปลีกบริเวณโรงหนังสกาล่าที่จะหมดสัญญาในปี 2559

    โดยในส่วนของพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาคาดว่าจะใกล้เคียงกับโครงการในเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งในส่วนของการพัฒนาโครงการทางทรัพย์สินจุฬาฯ จะมีการเว้นระยะเวลา 2 ปี จึงจะเริ่มพัฒนาโครงการใหม่ อีกทั้งในเฟส 3 คาดว่าจะต้องหาภาคเอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการ เนื่องจากใช้ต้องใช้งบในการลงทุนสูง

    “อีก 10 ปีข้างหน้า ย่านสยามสแควร์จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด เพราะทางทรัพย์สินจุฬาฯ จะทยอยนำพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่ามาพัฒนาโครงการค้าปลีกเองทั้งหมด ซึ่งรูปแบบของห้างค้าปลีกจะเน้นไปที่สินค้าแฟชั่นและดิจิตอล ขณะที่รูปแบบของพื้นที่ค้าปลีกก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม จะเป็นห้องเช่าและลานจอดรถ ภาพจะเปลี่ยนเป็นแหล่งช็อปปิ้งสตรีททรงสูง” นางสาวสุดารัตน์ กล่าว

    สำหรับการพัฒนาโครงการสยามสแควร์วัน บริเวณสยามสแควร์ซอย 4-5 นั้น ทางทรัพย์สินจุฬาฯ ได้เตรียมงบในการพัฒนาโครงการไว้ที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2556

    ซึ่งรูปแบบของศูนย์การค้าดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มสินค้าแฟชั่นและดิจิตอล เนื่องจากเป็นสินค้าจุดเด่นและสร้างชื่อให้กับย่านสยามสแควร์ นอกจากนี้ยังมีศูนย์จัดแสดงสินค้า นิทรรศการ และโรงละครไว้คอยบริการลูกค้า

    ด้านนายเพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ กล่าวว่า ศูนย์การค้าสยามสแควร์วันมีเอกลักษณ์ที่เป็นแหล่งรวมการช็อปปิ้งที่หลากหลายมากที่สุด

    ทั้งร้านค้ากลุ่มร้านค้าต้นแบบ (แฟล็กชิพสโตร์) แฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องหนัง และกลุ่มสินค้าไอที รวมทั้งยังมีโซนสินค้าสำหรับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ด้วย จุดเด่นคือศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ รวมถึงโรงละคร ที่มีที่นั่ง 850 ที่นั่ง กำหนดเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 56 โดยจะเริ่มลงทุนก่อสร้างในปีนี้

    Source /ไทยโพสต์

  2. อยากรู้ว่า พวกเราเครือข่ายคนดูหนังจะทำอะไรได้บ้างมั้ยคับ

    เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการคงสถานที่นี้ไว้

    ไม่อยากให้ลิโด้กับสกาล่าจากเราไปเลย เพราะมีความทรงจำดีๆมากมาย

    และมีหนังอีกหลายเรื่องที่เราคงไม่ได้ดูแน่ๆ

  3. ห้างน่ะ เยอะไปแล้ว

    “แค่นี้ห้างยังไม่พออีกหรือ”

  4. จะลองปรึกษาบางท่านก่อนนะครับ ว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง (ขออภัยจริงๆ ที่ช่วงนี้ผมภาระส่วนตัวเยอะเหลือเกิน)

    ธัชชัย
    ผู้ดูแลบล็อก

  5. ขอฝากหัวข้อนี้ครับ (มีลิงค์แนบไฟล์ PDF ด้วย)

    “สกาล่า และลิโด้ ไม่ได้โดนทุบแล้วนะครับ”

    http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A11939209/A11939209.html

  6. ความจริงรูปแบบทุกวันนี้ก็ดีอยุ่แล้วและยังไม่มีห้างไหนหรือที่ไหนได้บริเวณห้างแบบนี้และรูปแบบนี้แถวยังมีสถานที่หลายรูปแบบในการจัดการมีทั้งห้างแบบติดแอร์และเดินแบบถนนยังนี้แถมยังหากผู้บริหารมีแนวคิดไว้เผื่ออนาตคว่าหารูปแบบนี้ไม่ได้แล้วอย่าคิดแต่จะทุบแล้วสร้างก่อนที่พวกคุณจะเข้ามาบริหารบนความสำเร็จขอคนบริหารก่อนๆๆเขาคิดไว้ดีแต่ทุกวันนี้เห็นแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าเงินคือพระเจ้าและอำนาจคือความสำเร็จขนาดผุ้บริหารจบมาดีแต่ไม่เห็นคิดอนุรักษ์บางส่วนไว้ให้คนรุ่นหลังดูว่ารูปแบบสยามสแควร์เป็นอย่างไรเกิดขึ้นมาอย่างไรแต่จะเอาแต่รูปแบบใหม่คนใหม่ๆต้องดูแบบญี่ปุ่นหรือเกาหลีเขายังเอามาปรับปรุงดูแลความสะอาดและให้ความสำคัญแต่นี้เอาแต่ทุบแล้วจะมีใครจำภาพความเป็นมาขอสยามสแควร์ได้อย่างไรเห็นทุบหลายที่แล้วเก็บเงินแพงขึ้นหากทรัพย์สินต้องการเงินเพิ่มทำไมไม่บอกเขาดีๆเพราะคนทำธุรกิจเขาก็มีสมองไม่ใช่วันนี้นโยบายแบบนี้วันต่อมานโยบายแบบนั้นช่างว่างเหลือเกินนะของดีมีอยู้สถานที่แต่คอยจองทำลายเสียดายจริงๆๆ

  7. เงินหากเหลือมากช่วยไปทำบุญกับคนที่เขาไม่มีแต่อย่าสร้างภาพนะ

ใส่ความเห็น