ถาม-ตอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ของ สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตอน 1


ปัจจุบันสำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้เริ่มมีการตอบคำถามที่หลายคนค้างคาใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ เราจึงตัดคำถาม-คำตอบที่เกี่ยวข้องกับคนดูภาพยนตร์ รวมถึงปัญหาบางส่วนในธุรกิจภาพยนตร์ที่เชื่อว่าหลายคนยังสงสัยอยู่มาลง ณ ที่นี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ส่วน ถาม-ตอบ ของ เว็บไซต์สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรืออีเมล์ media-oncc@ hotmail.com ซึ่งไม่เกี่ยวกับเราแต่ประการใด

ข้อ ๑.ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑  กำหนดให้กิจการใดบ้างที่ต้องมาขอใบอนุญาต

-กิจการที่ต้องมาขอใบอนุญาต   ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอยู่  ๔ ประเภท  ได้แก่        

  • ก.การประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ ตามมาตรา ๓๗  ซึ่งมีอยู่ ๒ แบบคือ โรงหนังทั่วๆไปที่เรารู้จัก  เช่น โรงหนังในเครือเมเจอร์  ฯลฯ  และอีกแบบคือ  โรงหนังกลางแปลง
  • ข.การประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายภาพยนตร์ ตามมาตรา ๓๘ หมายถึง  ผู้ที่ให้เช่า หรือขายหนัง  ละคร  การ์ตูน  สารคดี  ที่บรรจุลงในแผ่นวีซีดี  ดีวีดี  ซีดีรอม หรือวัสดุอื่นๆ
  • ค.การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ตามมาตรา ๕๓  หมายถึง   ผู้ประกอบการร้านเกม  หรือร้านคาราโอเกะ
  • ง.การประกอบกิจการเช่า  แลกเปลี่ยน และจำหน่ายวีดิทัศน์ ตามมาตรา ๕๔  หมายถึง  ผู้ที่ให้เช่า  หรือขายแผ่นเกม  หรือแผ่นคาราโอเกะ ที่บรรจุลงแผ่นวีซีดี   ดีวีดี  หรือวัสดุอื่นๆ

ข้อ ๒.การเช่า  แลกเปลี่ยน   หรือจำหน่ายภาพยนตร์  และวีดิทัศน์  ต่างกันอย่างไร

-ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้  ได้ให้คำจำกัดความของ  “ภาพยนตร์”  ว่า หมายถึง  วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง   แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์   

ส่วนคำว่า“วีดิทัศน์” หมายถึง  วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

จากคำจำกัดความข้างต้น  จึงทำให้ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมายใหม่ต่างกันตรงเนื้อหา (content)  มิใช่วัสดุที่ใช้บรรจุ  กล่าวคือ  ถ้าวีซีดี หรือดีวีดีนั้นๆบรรจุเนื้อเรื่องที่เป็นหนัง/ละคร/การ์ตูน เราเรียกว่าวีซีดี/ดีวีดีนั้นว่า “ภาพยนตร์”  แต่ถ้าวีซีดี/ดีวีดีนั้นๆบรรจุเนื้อหาที่เป็นเกมการเล่นหรือคาราโอเกะ  ก็จะถูกเรียกว่า “วีดิทัศน์”  แทน   ซึ่งต่างจากพ.ร.บ.ควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์เดิม ที่กำหนดด้วยลักษณะของวัสดุที่ใช้บรรจุเป็น ๖ ประเภทคือวีซีดี  ดีวีดี  เลเซอร์ดีส   วีดีโอเกม  ซีดีรอม และฮาร์ดิสก์

ดังนั้น  การเช่า  แลกเปลี่ยน  หรือจำหน่ายภาพยนตร์  จึงต่างจากการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์  ตรงเนื้อหาของสินค้าที่ให้เช่าหรือจำหน่าย  มิใช่วัสดุที่บรรจุ  

ข้อ ๘.หากเปิดร้านขายวีซีดี  ดีวีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ อยู่ในตลาดนัด  หรือแผงลอยจะทำใบอนุญาตได้หรือไม่

-ทำได้  โดยให้ไปขอจดใบทะเบียนพาณิชย์  เพื่อแสดงที่ตั้งสถานประกอบการว่าอยู่  ณ ที่ใด  สมมุติเช่น  ร้านตั้งอยู่ในตลาดนัดวัดกลาง   ตั้งอยู่หน้าร้านทองกิมกี่  ตั้งหน้าห้างโรบินสัน  สาขารัชดาฯ   หรือเป็นแผงลอยอยู่ในโซน D ของตลาดโบ๊เบ๊  เป็นต้น  เมื่อระบุที่ตั้งและไปขอใบทะเบียนพาณิชย์ได้แล้ว ก็นำมาเป็นเอกสารประกอบการยื่น  สถานที่ประกอบการแห่งหนึ่ง ก็จะมีใบทะเบียนพาณิชย์ใบหนึ่ง   หรือหากขายหลายแห่ง ก็ต้องมีใบทะเบียนพาณิชย์แต่ละแห่งมาเป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตด้วย  ทั้งนี้เพราะพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับนี้  ได้กำหนดให้ออกใบอนุญาตให้กับสถานที่ประกอบการแต่ละแห่งๆละใบ  เพื่อควบคุมให้มีการประกอบกิจการเป็นหลักแหล่ง  มิใช่การเร่ขาย  โดยหาสถานที่ที่แน่นอนไม่ได้   เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น 

ข้อ ๑๔.นอกเหนือจากกิจการ ๔ ประเภทข้างต้นแล้ว  พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯยังควบคุมกิจการอื่นใดอีกบ้าง

-นอกเหนือจากกิจการ ๔ ประเภทที่กล่าวมาแล้ว  พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังควบคุมการเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะนำไปเช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายอีกด้วย   โดยตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ ฉบับเดิมจะเป็นระบบเซ็นเซอร์  แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะกำหนดให้ตรวจเนื้อหาภาพยนตร์ด้วยระบบเรตติ้ง  ซึ่งก็คือ การจำแนกเนื้อหาตามอายุผู้ชม  จะมีด้วยกัน ๗ เรตหรือ ๗ ประเภทด้วยกัน (ดูตามมาตรา ๒๖)

อย่างไรก็ดี  แม้ตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะกำหนดเรตของหนังมาแล้วว่ามีด้วยกัน ๗ เรต  แต่รายละเอียดของแต่ละเรตว่ามีลักษณะใดบ้าง  ต้องกำหนดไว้ในกฎกระทรวง  ซึ่งขณะนี้ กฎกระทรวงที่ว่าได้ร่างเสร็จแล้วระดับหนึ่ง  กำลังรอนำเสนอคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณาตามลำดับต่อไป  ดังนั้น  ในขณะนี้ (สิงหาคม ๕๑) จึงยังใช้การตรวจพิจารณาเป็นระบบเซ็นเซอร์อยู่ เพียงแต่คณะกรรมการผู้ตรวจพิจารณา  จะเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๖ ของพ.ร.บ.ฉบับนี้  ซึ่งมีด้วยกัน ๗ ท่าน เรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์”

ข้อ ๑๕. ภาพยนตร์ใช้ระบบเรตติ้งในการตรวจพิจารณา  แล้ว “วีดิทัศน์” ใช้ระบบเดียวกันหรือไม่

“วีดีทัศน์”  ซึ่งตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะหมายถึงเกมและคาราโอเกะ นั้น   จริงๆแล้วตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ใช้การตรวจพิจารณาด้วยระบบเซ็นเซอร์ตามเดิม  แต่จากการที่เกิดคดีเด็กมัธยมปลายได้ฆ่าคนขับแท็กซี่  โดยอ้างว่าเลียนแบบเกม GTA  จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการจัดระบบเรตติ้งเกมไปด้วยนั้น   ทางสวช.ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี และสามารถทำได้โดยไม่ขัดกับพ.ร.บ. เพราะโดยปกติ ที่ผ่านมา  ทางสวช.ก็ให้บริษัทผู้ผลิตติดเรตเกมที่ส่งเข้ามาตรวจพิจารณาอยู่แล้ว   เพียงแต่เรตที่ว่ายังมิใช่ของไทย  และยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  จึงได้เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือในการจัดทำเรตติ้งเกมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

ข้อ ๑๖.หากอยู่ต่างจังหวัด และต้องการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มาตรวจพิจารณาจะต้องทำอย่างไร

-เดิม  ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด  หากต้องการนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มาให้ส่วนกลาง คือ สวช.ตรวจพิจารณาให้  จะต้องมีหนังสือนำมาจากวัฒนธรรมจังหวัด  พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดมาด้วย แต่ปัจจุบัน การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์  เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์  ที่มีสวช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ดังนั้น  หากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ที่ต้องการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มาให้เซ็นเซอร์   ก็ติดต่อมาที่สวช.ได้โดยตรง  โดยไม่ต้องมีหนังสือนำจากวัฒนธรรมจังหวัดอีก  ส่วนเอกสารและหลักฐานก็ให้ใช้แบบเดิมไปก่อน (ดูคำตอบในข้อ ๒๖) หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่  โทร. ๐๒  ๒๔๗  ๐๐๒๘ ต่อ ๕๐๒๑  (ในวันเวลาราชการ)  และตามกฎหมายฉบับนี้  เมื่อได้หมายเลขรหัส กท.แล้ว  ก็ไม่ต้องไปขอหมายเลขรหัสจังหวัดซ้ำอีก  เพียงแต่ในอนาคต  หมายเลขรหัสกท.  อาจเปลี่ยนชื่อย่อใหม่เป็น “ภย.”   ที่ย่อมาจาก “ภาพยนตร์” หรือ “วท” ที่ย่อมาจาก “วีดิทัศน์” และอาจต้องปรับเปลี่ยนเครื่องหมายอนุญาต  รวมถึงการติดเรตบนปกวัสดุที่บรรจุด้วย

ข้อ ๑๗.กรณีที่ประกอบการร้านวีดิทัศน์ (ร้านเกม/คาราโอเกะ) แล้วก็มีการวางจำหน่ายแผ่นวีซีดี ดีวีดีภาพยนตร์หรือเกมในสถานที่เดียวกันด้วย  จะทำได้หรือไม่

-ลักษณะที่ว่านี้  เช่น  เปิดร้านเกมอยู่ด้านใน   แล้วขายแผ่นเกมหรือแผ่นวีซีดีหนังหน้าร้านไปด้วย  แบบนี้สามารถทำได้   แต่ตามมาตรา ๖๐ ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับให้มีการแยกพื้นที่การให้บริการออกจากกัน ซึ่งการแยกนี้ อาจจะทำเป็นผนังหรือฉาก หรือวัสดุอื่นใดมากั้นให้เห็นว่า ไม่ปะปนกัน   หากผู้ประกอบการไม่แยกพื้นที่ดังกล่าวให้เห็นชัดเจน  ก็จะมีโทษทางปกครอง  โดยอาจถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต  ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต 

ข้อ ๑๙.กรณีทำบ้านหรืออาคารพาณิชย์เป็นแบบ Hometheatreหรือ Minitheatre แล้วเปิดฉายภาพยนตร์จากแผ่นวีซีดี หรือดีวีดี  โดยเก็บเงินค่าชม  จะต้องมาทำใบอนุญาตโรงภาพยนตร์หรือไม่

-กรณีที่เก็บเงินค่าเข้าชม  ถือว่าทำเป็นธุรกิจ  ต้องมาขอใบอนุญาต  เพียงแต่การยื่นเอกสารหลักฐานในการมาขอใบอนุญาตไม่ต้องมีใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโรงภาพยนตร์เท่านั้น (ถ้าไม่เรียกเก็บเงินหรือไม่ทำเป็นธุรกิจ  เช่น บังคับให้ทำบัตรสมาชิก ก็ไม่ต้องมาทำใบอนุญาต)

ข้อ ๒๑.โรงแรม อาคารชุด หรือสถานที่อื่นใดที่ให้บริการฉายภาพยนตร์โดยการจัดส่งไปทางสายไปยังห้องต่างๆของโรงแรมหรืออาคารชุด  ซึ่งเคยต้องมาขอใบอนุญาตฉายและให้บริการเทป/วัสดุโทรทัศน์  จะยังต้องขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯหรือไม่  และขอเป็นประเภทใด

เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนี้  ยังมิได้ให้คำนิยามของโรงภาพยนตร์ ตามมาตรา ๔ (๓) เพิ่มเติม  ดังนั้น  ลักษณะการฉายตามสถานที่ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเคยมาขอเป็นประเภทฉายตามพ.ร.บ.เทปฯเดิม จึงยังไม่เข้าข่ายคำจำกัดความของ “โรงภาพยนตร์”  ตามกฎหมายใหม่  และยังไม่ต้องมาขอใบอนุญาตแต่อย่างใด   ยกเว้นจะจัดเป็นห้องฉายภาพยนตร์ต่างหาก  แล้วนำดีวีดี/วีซีดีหนังมาฉายในโรงแรม/อาคารชุดนั้นๆ แล้วเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมเพิ่มขึ้นต่างหากจากการบริการอื่นๆ  เช่นนี้  ก็ต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ เพียงแต่ตอนมายื่นขอใบอนุญาต   ไม่ต้องแนบหลักฐานใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโรงภาพยนตร์เท่านั้น 

ข้อ ๒๒.หากจะสร้างหนังต่างประเทศในประเทศไทย  ต้องขออนุญาตหรือไม่  และไปขอที่ใด

หากจะสร้างหนังต่างประเทศ หรือแม้แต่ถ่ายโฆษณาต่างประเทศในไทย  ก็ต้องขออนุญาต  โดยต้องไปขอที่สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตรงสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน  โทร. ๐๒ ๒๑๙ ๔๐๑๐-๗

ข้อ ๒๓.ถ้าจะสร้างหนังไทย ต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่

ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ จะไม่มีการควบคุมก่อนการสร้าง พูดง่ายๆว่าไม่ต้องมาขออนุญาตก่อนการสร้าง   แต่จะให้สร้างจนแล้วเสร็จแล้ว  จึงค่อยนำมาจัดเรตก่อนออกฉายหรือขาย   แต่หากผู้สร้างรายใด  ไม่แน่ใจว่าหนังที่ตนจะสร้างนั้น  จะมีลักษณะเข้าข่ายบ่อนทำลาย  ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงหรือเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือไม่ (ตามมาตรา ๒๓) ก็อาจส่งบท และเค้าโครงเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตรวจก่อนสร้างได้  โดยจะต้องเสียค่าป่วยการในการตรวจ  โดยคิดเป็นหน้าๆ  (ค่าป่วยการนี้ จะออกเป็นระเบียบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าจะคิดเท่าไร  เช่น ๕๐ หน้าขึ้นไปคิดเหมาเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท เป็นต้น )

ข้อ ๒๔.ภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนนำออกฉายหรือขาย จะต้องมาผ่านการตรวจและขออนุญาตใช่หรือไม่

ถูกต้อง  ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยหรือหนังต่างประเทศที่สั่งเข้ามา  หากจะนำไปฉายในโรงหนัง  หรือฉายตามที่ต่างๆ  หรือจะทำเป็นหนังแผ่นวีซีดี ดีวีดีเพื่อการฉาย  เช่า  จำหน่ายทุกเรื่องจะต้องนำมาผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามมาตรา ๒๕ ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ   ยกเว้นภาพยนตร์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗ เท่านั้น ที่ไม่ต้องนำมาผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตให้ขายหรือฉายได้เลย  เช่น  ภาพยนตร์ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  /ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อดูเป็นการส่วนตัว หรือภาพยนตร์ที่หน่วยงานราชการ  รัฐวิสาหกิจ  องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐสร้างขึ้นเพื่อการเผยแพร่หรือส่งเสริมการดำเนินหน่วยงานนั้นๆ  เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของตำรวจ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็สามารถนำไปเผยแพร่ได้เลย  ไม่ต้องส่งมาตรวจพิจารณาที่สวช.

ข้อ ๒๕.ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายในเทศกาลระหว่างประเทศ  ไม่ว่าจะส่งออกไปร่วมงานเทศกาลในต่างประเทศ หรือส่งเข้ามาร่วมงานเทศกาลต่างประเทศในประเทศไทย  จะต้องผ่านการตรวจพิจารณาหรือไม่  และต้องขออนุญาตจากผู้ใด

ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศไม่ว่าจะส่งออกหรือนำเข้ามาร่วมเทศกาล  จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๒๗ (๔) ว่าไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา แต่ทั้งนี้  ต้องเป็นเทศกาลที่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (ชุดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) เป็นผู้กำหนดว่าจะมีเทศกาลใดบ้าง  และจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ  (จะเป็นกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงท่องเที่ยวฯ)  แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ชัด  เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการฯชุดดังกล่าวได้ประกาศและกำหนดออกมาก่อน

อ่านต่อ ตอน 2

8 responses

  1. มีวิดีโอเกมส์ 3 เครื่อง แล้วมีคนมาเล่น เราเก็บเงินเขาเพื่อเป็นค่าไฟ ค่าเสื่อมโทรม จำเป็นต้องไปขอใบอนุญาติหรือไม่

  2. ผมคงไม่สามารถตอบคำถามได้ดีเท่ากับหน่วยงานที่ดูแลนะครับ รบกวนสอบถามได้ที่ media-oncc@ hotmail.com หรือที่เว็บไซต์สำนักภาพยนตร์และวิดีทัศน์ น่าจะได้คำตอบที่ถูกต้องกว่า

    อย่างไรก็ตามปัจจุบันหากพิจารณากฎหมายตัวนี้ หากไม่ได้ขออนุญาต เจ้าหน้าที่ก็สามารถเอาผิดได้ครับ

  3. อยากทราบ เรื่อง กฎหมายของโรงภาพยนตร์ ว่ามีอะไรบ้างครับ

  4. แนะนำให้ดาวน์โหลด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ 2551 ไปอ่านดูครับตามลิงค์ด้านล่าง

    Click to access video_law.pdf

  5. คำถาม คำตอบข้อที่ ๓-๗ และข้อ ๙-๑๓ หายไปไหนครับ
    หากไม่สะดวกตอบ จะบอกทางเมล์ที่ให้ก็ได้ครับ
    ขอบคุณครับ

  6. ตอบคุณ Nantana

    ทางเรารวบรวมข้อที่เกี่ยวข้องกับคนดูมาเท่านั้นครับ ข้อที่หายไปคือข้อที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโดยตรง จึงแจ้งมาเพื่อทราบ แนะนำให้สอบถามกับทาง สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ดีกว่าครับ

  7. เรียนถามครับ
    ถ้าต้องการ สร้างโรงหนัง 4D ขนาดเล็ก (ประมาณ 6 ที่นั่ง ต่อรอบ) ประมาณตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต และสามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อจะไปฉายตามงานและอีเว้นท์
    ขั้นตอนการขออนุญาตและดำเนินการอย่างไรบ้าง
    ขอบคุณครับ
    บี

  8. เรียนก่อนว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเลยนะครับ เพราะนั่นเป็นเรื่องธุรกิจ บล็อกนี้เกี่ยวกับคนดู

    แต่อันดับแรกถ้าจะทำแนะนำให้ไปปรึกษากับทางสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อนครับ ผู้ประกอบการด้านนี้ต้องไปสอบถามกฎหมาย และยื่นคำร้องกับที่นี่ (ดูรายละเอียดตามลิงค์ด้านล่าง)
    http://www.culture.go.th/moviehtml/index.html

    เหตุผลหลักๆ คือเรื่องลิขสิทธิ์ และการจัดเรตหนังครับ หนังทุกเรื่องที่จะฉายต้องตรวจกับที่นี่อยู่ดีมิฉะนั้นในทางกฎหมายจะมีความผิด

    ส่วนทางธุรกิจก็คงต้องจดทะเบียนบริษัทครับ อย่างไรก็ตามคิดว่าต้องทำข้อแรกให้เรียบร้อยก่อน

ใส่ความเห็น